พืชวงศ์ขิง-ข่า (Zingiberaceae) เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนและร้อนชื้นทั่วโลก กว่า 1300 ชนิด ใน 52 สกุล และมีศูนย์กลางความหลากหลายของชนิดพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทยนั้นมีขิง-ข่าพื้นเมืองอยู่ถึง 25 สกุล มากกว่า 300 ชนิด (Larsen และ Larsen, 2006) พืชดังกล่าวถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นเวลาช้านานมาแล้วในด้านต่างๆ เช่น อาหาร-เครื่องเทศ สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง-สปา และไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งรวมแล้วมีมูลค่าทางการค้าค่อนข้างสูง (สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ,2556).
Distribution of Zingiberaceae
ปัจจุบันแม้ว่าจะมีการนำขิง-ข่าหลายชนิดมาเพาะขยายพันธุ์ และปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่พบว่ายังมีการเก็บหาโดยตรงจากป่า โดยเฉพาะชนิดที่เป็นสมุนไพรหรือมีความสวยงามเชิงไม้ประดับ จากสาเหตุดังกล่าว กอปรกับการบุกรุกทำลายป่าธรรมชาติเนื่องมาจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ ส่งผลให้ชนิดและประชากรของขิง-ข่าพื้นเมืองลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการรวบรวมอนุรักษ์พันธุ์ขิง-ข่าพื้นเมืองในลักษณะการอนุรักษ์นอกถิ่นกำเนิด (ex situ) จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งโครงการนี้จะมีการรวบรวมขิง-ข่าพื้นเมืองโดยจัดปลูกอย่างเป็นระบบในสวนพฤกษศาสตร์ จากนั้นตัวอย่างส่วนหนึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบในโครงการในแผนงานวิจัย ซึ่งในอนาคตจะเป็นแหล่งพันธุกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านต่างๆได้