Introduction

            พืชวงศ์ขิง-ข่า (Zingiberaceae) เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนและร้อนชื้นทั่วโลกประมาณ 50 สกุล มากกว่า 1,500 ชนิด แพร่กระจายอยู่ในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนของทุกทวีป ในเขตร้อนของทวีปอเมริกามีสกุลท้องถิ่นสกุลเดียว คือ Renealmia ทวีปแอฟริกามี 4 สกุล ได้แก่ Aframomum Aulotandra Renealmia และ Siphonochilus ทวีปออสเตรเลียมีพืชท้องถิ่น 12 ชนิด ใน 6 สกุล ได้แก่ Alpinia Amomum Curcuma Etlingera Hornstedtia และ Pleuranthosium ซึ่งเป็นสกุลที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ในทวีปเอเชียมีมากกว่า 46 สกุล พบทั้งในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน สกุลขนาดใหญ่ เช่น สกุลข่า (Alpinia) มีประมาณ 200 ชนิด สกุลเร่ว (Amomum) มีประมาณ 150 ชนิด สกุลข่าลิง (Globba) มีประมาณ 100 ชนิด และสกุลขิง (Zingiber) มีประมาณ 100 ชนิด และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีสกุลขนาดเล็กที่พบในพื้นที่แคบๆ บริเวณนี้หลายสกุล เช่น สกุล Leptosolena มี 1 ชนิด ที่พบเฉพาะบนเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ สกุล Vanoverbergia มี 2 ชนิด ที่พบในประเทศฟิลิปปินส์และไต้หวัน สกุล Nanochilus มี 1 ชนิด พบบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย สกุล Tamijia มี 1 ชนิด ที่เป็นพืชถิ่นเดียวของเกาะบอร์เนียว สกุล Camptandra มี 3 ชนิด สกุล Haniffia มี 2 ชนิด พบที่ตอนเหนือของประเทศมาเลเซียและตอนใต้ของประเทศไทย สกุล Distichoclamys มี 1 ชนิด สกุล Siliquamomum  มี 1 ชนิด พบเฉพาะที่ประเทศเวียดนาม สกุล Laosanthus มี 1 ชนิด พบทางตอนใต้ของประเทศลาว สกุล Stadiochilus มี 1 ชนิด พบที่ประเทศพม่า และสกุล Pommereschia มี 2 ชนิด พบที่ประเทศพม่าและประเทศไทย สกุลถิ่นเดียวของประเทศไทยมี 2 สกุล ได้แก่ สกุล Siamenthus มี 1 ชนิด ที่จังหวัดนราธิวาส และสกุล Cornukaempferia มี 3 ชนิด บริเวณกลุ่มจังหวัด เลย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ (Unpublish, 2014) พืชวงศ์ขิง-ข่าจึงมีศูนย์กลางความหลากหลายของชนิดพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทยนั้นเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ของพันธุ์ไม้จากเขตหิมาลัยตอนใต้ อินโดจีน และมลายู ทำให้มีพืชวงศ์ขิง-ข่าพื้นเมืองอยู่ประมาณ 26 สกุล มากกว่า 300 ชนิด (Larsen & Larsen, 2006) [1] พืชดังกล่าวถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นเวลาช้านานมาแล้วในด้านต่างๆ เช่น อาหาร-เครื่องเทศ สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง-สปา และไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งรวมแล้วมีมูลค่าทางการค้าค่อนข้างสูง (สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ, 2556). [2]

Distribution of Zingiberaceae

               ปัจจุบันแม้ว่าจะมีการนำขิง-ข่าหลายชนิดมาเพาะขยายพันธุ์ และปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่พบว่ายังมีการเก็บหาโดยตรงจากป่า โดยเฉพาะชนิดที่เป็นสมุนไพรหรือมีความสวยงามเชิงไม้ประดับ จากสาเหตุดังกล่าว กอปรกับการบุกรุกทำลายป่าธรรมชาติเนื่องมาจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ ส่งผลให้ชนิดและประชากรของขิง-ข่าพื้นเมืองลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการรวบรวมอนุรักษ์พันธุ์ขิง-ข่าพื้นเมืองในลักษณะการอนุรักษ์นอกถิ่นกำเนิด (ex situ) จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งโครงการนี้จะมีการรวบรวมขิง-ข่าพื้นเมืองโดยจัดปลูกอย่างเป็นระบบในสวนพฤกษศาสตร์ จากนั้นตัวอย่างส่วนหนึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบในโครงการในแผนงานวิจัย ซึ่งในอนาคตจะเป็นแหล่งพันธุกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านต่างๆได้


References

  1. K. Larsen, Gingers of Thailand. Thailand. Chiang Mai: Queen Sirikit Botanic Garden, 2006, p. 188.
  2. สำน ักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ, บัญชีรายการทรัพย์สินชีวภาพพืชวงศ์ขิง. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), 2556, p. 238.
Scratchpads developed and conceived by (alphabetical): Ed Baker, Katherine Bouton Alice Heaton Dimitris Koureas, Laurence Livermore, Dave Roberts, Simon Rycroft, Ben Scott, Vince Smith